รีโนเวทบ้านเก่า “บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้” ให้สวยร่วมสมัย
รอบรู้เรื่องบ้าน

รีโนเวทบ้านเก่า “บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้” ให้สวยร่วมสมัย

10.5K

12 มกราคม 2567

รีโนเวทบ้านเก่า “บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้” ให้สวยร่วมสมัย

  

"เมื่อบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้เริ่มผุพัง เจ้าของบ้านอาจเริ่มคิดปรับปรุงหรือรีโนเวทบ้านเก่าส่วนที่เป็นไม้ ให้ดูสวยงามและปลอดภัยต่อการใช้งาน ซึ่งจะต้องระวังเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น จึงควรเลือกใช้วัสดุเบาอย่าง ไม้เทียม ไม้สังเคราะห์ และวัสดุแผ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องที่ต้องคำนึงคือ การตรวจสอบโครงสร้างเดิมว่ายังแข็งแรงเพียงพอต่อการรับน้ำหนักในภายภาคหน้าหรือไม่"

        บ้านทุกหลังเมื่ออยู่อาศัยไปนานๆ ย่อมทรุดโทรมลงตามกาลเวลา โดยเฉพาะส่วนที่เป็นไม้จะผุพังง่ายเป็นพิเศษ บ้านไม้บางหลังที่เสียหายมาก เช่น โดนปลวกแทะเป็นบริเวณกว้างอาจเลือกจะทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ ส่วนบางหลังที่ยังพอซ่อมแซมได้ หรือเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ (ชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้) อาจเลือกปรับปรุงเพียงส่วนที่สร้างด้วยไม้ ก็นับอีกเป็นทางเลือกในการปรับปรุงหรือรีโนเวทบ้านเก่า ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ทรัพยากร และค่าใช้จ่ายได้มาก

        การปรับปรุงบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้นั้น เจ้าของบ้านบางท่านอาจต้องการลดปัญหาเรื่องปลวก เลยคิดเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ไม่ใช่ไม้ แต่ทั้งนี้เรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงอันดับแรกคือ “น้ำหนักที่โครงสร้างจะต้องรองรับ” โดยหลักการคือ ไม่ควรทำให้เกิดน้ำหนักเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากนัก ยิ่งเป็นบ้านที่มีอายุการใช้งานนานมากยิ่งต้องระวัง โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ให้กลายเป็นบ้านปูนทั้งหลังนั้น การรื้อวัสดุไม้ทั้งคาน ตง พื้น รวมถึงโครงคร่าวและผนังไม้ออก แล้วทำการหล่อคานคอนกรีต พื้นคอนกรีต หรือผนังก่ออิฐฉาบปูน แทน จะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากจนอาจเป็นอันตรายต่อโครงสร้าง

        ดั้งนั้น ในการเลือกปรับปรุงบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ เราควรใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา เพื่อป้องกันมิให้กระทบต่อการรับน้ำหนักของโครงสร้าง โดยมีทางเลือกดังต่อไปนี้

พื้นเบา
        ในส่วนของพื้นควรพิจารณาโครงสร้างเดิม ถ้าเป็นไม้หมดอาจเปลี่ยนมาใช้คานและตงเหล็ก ยึดติดกับเสาคอนกรีตเดิม แต่ถ้าคานเดิมเป็นปูนที่ยังแข็งแรงอยู่ อาจเปลี่ยนเฉพาะตงไม้เป็นตงเหล็ก จากนั้นกรุทับด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือ สมาร์ทบอร์ด แล้วปูทับวัสดุที่ดูใกล้เคียงไม้อาจเลือกใช้ ไม้ลามิเนท ไม้เอ็นจิเนียร์ หรือกระเบื้องลายไม้ เป็นต้น หรืออาจเลือกใช้วัสดุอื่นๆ ปู เช่น กระเบื้องเซรามิค หากต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ


พื้นโครงเบากรุแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ ปูทับด้วยวัสดุตกแต่ง

ผนังเบา
 ใช้ผนังเป็นโครงคร่าวเหล็ก (เหล็กกล่องหรือเหล็กตัว C สำหรับผนังภายนอก และโครงกัลวาไนซ์ สำหรับผนังภายใน) กรุทับด้วยวัสดุน้ำหนักเบา กรณีอยากได้ผนังที่ดูสวยงามแบบไม้เหมือนเดิม แต่ไม่อยากเผชิญปัญหาเรื่องปลวกในระยะยาวอาจเลือกใช้ ไม้เทียม ไม้สังเคราะห์ แทนไม้จริง หรืออาจเลือกกรุแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ แล้วปิดทับด้วยไม้สังเคราะห์สำหรับตกแต่ง เช่น ระบบตกแต่งผนังสำเร็จรูป เป็นต้น

        กรณีต้องการภาพลักษณ์แบบผนังทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่ไม้ อาจกรุด้วยแผ่นยิปซั่ม (ใช้ได้เฉพาะผนังภายใน) หรือแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยฉาบรอยต่อให้เรียบแล้วทาสีทับ หรือแต่งผิวด้วยวัสดุอื่น เช่น กรุวอลเปเปอร์ กรุกระเบื้อง เป็นต้น หากต้องการลักษณะแบบปูนเปลือย อาจใช้แผ่นซีเมนต์บอร์ดแทน หรือเลือกใช้ไฟเบอร์ซีเมนต์ซึ่งแต่งผิวได้ 2 วิธี คือ ทาทับด้วยน้ำยาเคลือบผิว (เช่น Epoxy, Silicone, Polyurethane) หรือ ฉาบทับด้วยปูนฉาบแต่งผิวบางสีเทา (Skim Coat) ทั้งนี้ การแต่งผิวผนังต่างๆ ควรศึกษาข้อจำกัดของวัสดุและวิธีการจากผู้ผลิต เพื่อการใช้งานที่ถูกต้องเหมาะสม

 

ระบบผนังเบา กรุผนังภายนอกด้วยไม้ฝาไฟเบอร์ซีเมนต์ ให้ความรู้สึกใกล้เคียงบ้านไม้

 

หลังคาเบา
        การปรับปรุงหลังคาบ้าน อาจเลือกใช้หลังคาโครงเหล็ก หรือใช้โครงหลังคากัลวาไนซ์เพื่อลดปัญหาเรื่องสนิมในระยาว (หากโครงหลังคาเดิมเป็นไม้ที่สภาพยังดีและต้องการใช้งานต่อจริงๆ ควรทาน้ำยากันปลวกซ้ำ แต่หากเริ่มผุพังควรเปลี่ยนใหม่ทันที) สำหรับกรณีที่ต้องการเปลี่ยนกระเบื้องมุง กระเบื้องใหม่ควรมีน้ำหนักไม่มากกว่าเดิม และควรเช็คเรื่ององศาหลังคากับระยะแปที่ใช้ในการมุงว่าเหมาะสมหรือไม่ เช่น เดิมใช้กระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ลอนคู่ หากจะเปลี่ยนเป็นกระเบื้องคอนกรีตนั้น นอกจากน้ำหนักกระเบื้องจะมากขึ้นแล้ว ยังต้องเพิ่มจำนวนแปให้ถี่ด้วย ทำให้โครงสร้างต้องรับน้ำหนักมากกว่าเดิม เป็นต้น ทั้งนี้ จะให้ง่ายที่สุดอาจเลือกใช้กระเบื้องรุ่นเดิม โดยสามารถเลือกสีที่ต่างไปเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศได้ การปรับปรุงบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้นั้น แม้จะใช้วัสดุเบา แต่ก็ควรดำเนินงานภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้าง เพื่อความแข็งแรงและปลอดภัย ในส่วนของการรื้อถอนการรื้อถอนหากวัสดุที่รื้อถอนออกมายังอยู่ในสภาพดี อาจนำมาประยุกต์ใช้และออกแบบเป็นส่วนประกอบอื่นของบ้านแทน เช่น นำลูกกรงบันไดไม้มาทำเป็นระแนงสำหรับตกแต่งบังแดด หรือนำบานหน้าต่างไม้มาประยุกต์ใช้เป็นโต๊ะ เป็นต้น นับเป็นการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า ที่นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังดูสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์อีกด้วย

  

โครงหลังคาเหล็ก (ซ้าย) และโครงหลังคากัลวาไนซ์ (ขวา)

แท็กที่เกี่ยวข้อง